ก่อนจะถีงปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคมของปีนี้ Gozzo ขอนำทุกท่านเข้าสู่เมนูฉลองปีใหม่กันตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมครับ เร็วไปไหมเอ่ย? แต่จริงๆ เราอยากแนะนำกันก่อน เพราะว่าถ้าออกในเดือนมกราคม ทุกท่านอาจจะไม่ได้เตรียมอาหารปีใหม่ หรือไม่ได้สนใจเรื่องราวของอาหารปีใหม่กัน ในปีใหม่ทุกๆ ปี ชาวญี่ปุ่นจะเตรียมอาหารเฉพาะ โดยถือเป็นเมนูสิริมงคล ซึ่งก็จะมีเมนูที่กินตอนสิ้นปีอย่าง “โทชิโคชิโซบะ” หรือ“โซบะสิ้นปี” ตอนปีใหม่ก็จะมีข้าวกล่องปีใหม่ หรือ “โอเซจิ” ข้าวกล่องที่จะประกอบไปด้วยอาหารหลากหลายชนิด ที่มีเงื่อนไขสำคัญทั้งชนิดอาหาร และการจัดวางที่ต้องให้เป็นสิริมงคล หรือเมนูพิเศษอื่นๆ อย่างเช่น “โอโซนิ” ซุปสิริมงคลใส่ขนมโมจิ และสาเกปีใหม่ “โอโตโซะ” ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีความหมาย และต้องมีหลักการในการทานด้วย ลองไปดูกันครับว่า ปีใหม่คนญี่ปุ่นเขาทำอะไร และทานอะไรกันบ้าง
สิ้นปีกับ โทชิโคชิโซบะ
ในบ้านเรา วันสิ้นปีถือเป็นวันหยุดซึ่งเราจะไม่ได้ทำงานกัน แต่ว่าห้างร้านต่างๆ จะยังเปิดขายและมีงานเทศกาลต่างๆ แต่ในญี่ปุ่นนั้น ร้านรวงจะหยุดหมดในวันสิ้นปี ถือเป็นวันที่ท้องถนนจะเงียบเหงา เพราะไม่มีบริษัทห้างร้านเปิด แต่ใช่ว่าจะไม่มีที่เฉลิมฉลองนะครับ ตามสถานที่สำคัญๆ สำหรับกิจกรรม หรือสวนสนุก ก็จะมีพื้นที่สำหรับเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะ แถมยังแน่นขนัดมากๆ ด้วยครับ ส่วนเมนูเด็ดสำหรับทานตอนสิ้นปีก็คือ “โทชิโคชิโซบะ” หรือ“โซบะสิ้นปี” ที่มีความหมายถึงการขับไล่ภัยพิบัติ และความยาวของเส้นโซบะ ก็จะหมายถึงอายุที่ยืนยาวเส้นโซบะขาดง่ายก็จะหมายถึงการตัดความทุกข์ ความโศก และโรคภัยให้หมดสิ้นไป
การกินโทชิโคชิโซบะ เริ่มมาตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยร้านค้าต่างๆ จะมีการจัดให้มีการกินโซบะทุกวันที่ 30 ของเดือน ซึ่งในช่วงยุคกลางของสมัยเอโดะ โรคเหน็บชากำลังระบาด การทานเส้นโซบะจึงมีส่วนช่วยในการรักษาโรค และกลายเป็นความหมายพิเศษที่จะช่วยต่ออายุให้ยืนยาว พิธีกินโซบะสิ้นปี จึงมีสืบต่อมาเรื่อยๆ แม้ว่าในหลายๆ ท้องที่จะแตกต่างกันไปเช่น ที่ฟุคุชิมะ จะกินโซบะในวันปีใหม่แทน หรือที่นีงาตะ จะกินโซบะในวันที่ 14 มกราคม เป็นต้น
การทานโซบะสิ้นปี
ทุกคนในครอบครัวจะมานั่งรอทานโซบะสิ้นปีกันในตอนก่อนเที่ยงคืน โดยพวกเขาจะทำโซบะเตรียมไว้ พอถึงเวลาที่วัดเคาะระฆัง 108 ครั้ง เป็นสัญญาณแสดงถึงเวลาเที่ยงคืนก็จะทานโซบะได้ สำหรับโซบะที่ทานนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำเมนูอะไร จะทานเป็นซารุโซบะ คิทสึเนะโซบะ ก็สามารถทานได้ครับ
โซนิ ปีใหม่กับซุปสิริมงคล
“โซนิ” เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่จะรับประทานกันในช่วงปีใหม่ บางที่จะทานเป็นการส่งท้ายปีเก่าไป แต่บางที่ก็จะทานหลังจากทาน “โอโตโซะ” (สุรามงคล) โซนิมีรสชาติและส่วนผสมแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยมากถ้าทาง คันไซจะใช้ซุปมิโสะสีขาว แต่ถ้าเป็นทางตะวันตกจะใช้ซุปใส บางแห่งจะใช้ซุปถั่วแดง อย่างเช่น ทตโทริ หรือ ชิมาเนะ
โซนิสิริมงคล
เพื่อการเก็บเกี่ยวที่ดีและอยู่รอดปลอดภัยในปีต่อไป
“โซนิ” เป็นเสมือนอาหารสิริมงคล ซึ่งมีการใช้เป็นอาหารสำหรับขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยมาแต่โบราณ รวมถึงการขอให้มีการเก็บเกี่ยวที่ดีในปีใหม่
ในสมัยมุโรมะจิ โซนิเป็นอาหารจากแรกในอาหารชุดพิเศษที่จะเสิร์ฟให้กับพวกซามูไร อาหารชุดต่อมาจะไม่เสิร์ฟถ้ายังไม่ได้รับประทานโซนิก่อน ในยุคนี้โซนิที่คนทั่วไปกินจะไม่มีโมจิ แต่จะใช้เผือกแทนเพราะว่า โมจิ ถือเป็นอาหารชั้นสูง ชาวนาและคนธรรมดาไม่สามารถหารับประทานได้
การทานโซนิในแต่ละท้องที่
อย่างที่กล่าวไว้ว่า โซนิในแต่ละท้องที่ จะมีวัตถุดิบที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่นในโตเกียว นิยมใช้วัตถุดิบในการต้มโซนิจากไก่ เช่น คอไก่ และใส่เนื้อไก่ในโซนิด้วย พร้อมกับโมจิ ส่วนในเขตนิงาตะ จะมีซุปโซนิที่มาจากวัตถุดิบในท้องที่อย่างปลาแซลมอน ทั้งไข่ปลาและเนื้อปลา หอยนางรม ซึ่งโซนิที่นี่ถูกนำมาทำเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนในเขตคากาวะ ซุปโซนิที่นี่จะใช้ โมจิ ใส่ในซุปมิโสะ โดยมีส่วนผสมเป็นเผือก แครอท และผักใบเขียวต่างๆ บางที่ อย่างเช่นนารา จะใช้ซุปมิโซะ ใส่คอนเนียกคุ ผัก เต้าหู้ และที่สำคัญคือใช้โมจิกรอบ ที่ทำจากแป้งข้าวรสหวาน มีสีออกเหลืองซึ่งถือเป็นความหมายของผลิตผลที่ดี ส่วนที่อิวาเตะ จะแปลกกว่าที่อื่น คือจะใช้โซนิซุปรสโชยุ ใส่โมจิที่นุ่มเหนียว จุ่มรับประทานกับซอสหวานปรุงรสด้วยโชยุ น้ำตาล และวอลนัท
โอเซจิ ชุดอาหารสุดอร่อยต้นปี
เมื่อถึงตอนเช้าในวันปีใหม่ คนในครอบครัวจะทาน “โอโตโซะ” หรือสุรามงคลในตอนเช้า บางที่ก็จะทาน“โอโซนิ”จากนั้นก็ออกเดินทางไปไหว้พระที่วัดเพื่อขอพร และกลับมาร่วมทานอาหารด้วยกัน ซึ่งอาหารปีใหม่จะมีชื่อเรียกว่า “โอเซจิ” ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเบนโตะ หรือปิ่นโต โอเซจิยุคดั้งเดิมจะมีด้วยกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นจะแบ่งเป็นล็อค ที่ใส่อาหารแตกต่างกันหลากหลายชนิด ซึ่งอาหารแต่ละชนิดก็จะมีความหมายเป็นมงคลทั้งสิ้น
ในปัจจุบันนั้น แม้ว่าเรื่องของจำนวนชั้นและชนิดอาหารจะเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม และไม่ค่อยมีคนทำกันเองแล้วเพราะเป็นอาหารที่ใช้เวลามาก แต่โอเซจิก็ยังคงเป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากร้านอาหารที่จัดจำหน่ายโอเซจิในญี่ปุ่นนั้นจะขายดี และมีราคาแพงมากๆ ราคามีตั้งแต่ไม่กี่หมื่นเยนไปจนถึงหลักแสนเยนเลยทีเดียว สาเหตุที่โอเซจินั้นมีความสำคัญเพราะคนสมัยโบราณถือว่าต้องหยุดเป็นเวลาถึง 3 วัน จึงต้องทำเอาไว้ให้ทานได้นานๆ เนื่องจากไม่สามารถใช้ไฟทำอาหารได้นั่นเองครับ อาหารโอเซจิมักจะมีรสหวานเป็นส่วนใหญ่
ความเป็นมาของโอเซจิ
“โอเซจิ” นั้น มีความเป็นมาเริ่มต้นในสมัยเอโดะ โดยในสมัยนั้นจะเรียก“โอเซจิกุ” หรือ “โอเซทสึกุ” เชื่อกันว่ามาจากประเทศจีน การจัดพิธีไหว้เจ้าด้วยอาหารสำรับต่างๆ จำนวนมาก แบ่งเป็นอาหารคาว หวาน และแต่ละชนิดก็จะมีความหมาย ซึ่งการจัดอาหารแบบนั้นถูกนำมาใช้ในการเฉลิมฉลอง 5 เทศกาลสำคัญ(เซกกุ) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นก็ยังคงเป็นการจัดใส่จานพิธีเฉลิมฉลองนี้เริ่มถ่ายทอดสู่ขุนนางต่างๆ และแพร่หลายลงมาสู่ซามูไร จนกระทั่งกลายเป็นการเฉลิมฉลองกันในครอบครัว โดยในอดีตจะเป็นการจัดใส่จาน และมีอาหารวางบนโต๊ะเป็นจำนวนมากจนกระทั่งมีการนำไปใส่ใน “จูบะโกะ” และพัฒนากลายเป็นกล่องแบบในปัจจุบัน
อาหารที่บรรจุในโอเซจิ
อาหารเมนูต่างๆ ที่บรรจุในกล่องโอเซจิ จะมีความหมายในตัวมันเอง ซึ่งก็จะหมายถึงสิ่งมงคลต่างๆ ตามแต่จะตีความในแต่ละชนิด โดยจะแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ อาหารเฉลิมฉลอง ของย่าง ของหมักดอง และของต้มครับ
อาหารเฉลิมฉลอง
ถั่วดำ
ถั่วดำนั้น สีดำหมายถึงความชั่วร้ายอยู่แล้ว แต่ว่าถั่วเป็นเหมือนสิ่งกำจัดความชั่วร้าย นอกจากนี้ยังมีความหมายให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนด้วย
คาสุโนะโกะ (ไข่ปลาเฮอริ่ง)
ไข่ปลาเฮอริ่ง หรือคาสุโนะโกะ แปลได้ถึงเด็กจำนวนมาก นอกจากนี้ ปลาเฮอริ่งมีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “นิชิน”ซึ่งคำว่า นิแปลว่าสอง ส่วนชิน พ้องกับคำว่า ชิน หรือโอยะ ที่แปลว่าพ่อแม่ จึงหมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่ดีเป็นวัตถุดิบที่มีราคาแพง แต่อร่อยมาก
ทสึกุริ
ปลาแอนโชวี่ หรือโคมาเมะ นำไปทอดกรอบ ใส่โชยุ มิริน น้ำตาล และพริกไทย ชื่อโคมาเมะ เป็นคำพ้องของคำว่า โกะมังเมะ โกะมัง คือห้าหมื่น ส่วน เมะ หรือ เบอิ แปลว่าข้าว ดังนั้นก็จะมีความหมายถึงผลิตผลอุดมสมบูรณ์
ทะทะกิโกโบ
ทะทะกิโกโบะ หรือรากโกโบดอง หมายถึงนกแห่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะแปลความถึงการเก็บเกี่ยวและผลิตผลเช่นกัน แต่ก็จะหมายถึงสุขภาพที่แข็งแรง เพราะรากโกโบนั้นมีความแข็งแรงและทะลุทะลวงไปในดินด้วย
โคฮาคุคามาโบโกะ
จริงๆแล้วใช้วัตถุดิบได้หลายชนิด แต่ที่อร่อยจะเป็นเนื้อปลาบดล้วนๆทำเป็นลูกชิ้นสีแดงและสีขาว มีราคาแพงมากในอดีตนั้นจะใช้ข้าวแดง และข้าวขาวมาปั้น มีความหมายถึงพระอาทิตย์ขึ้น และสีแดงคือความโชคดี สีขาวคือความขาวสะอาดบริสุทธิ์ของสีแดงและสีขาวถือเป็นของที่คนญี่ปุ่นมักเตรียมไว้สำหรับวันพิเศษ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า โคฮาคุ นั่นเองครับ
ดะเทมากิ
ไข่ม้วนที่ทำขึ้นจากเนื้อปลาผสมกับกุ้งและไข่ นำไปม้วนแล้วนึ่งในไม้ไผ่ มีความหมายถึงความมั่งคั่ง (ดะเท)
คะจิคุริ / คุริคินตัน
สองอย่างนี้เป็นคนละชนิดนะครับ แต่ใช้เกาลัดทำเหมือนกัน คะจิคุริเป็นเกาลัดหวานบด ส่วนคุริคินตัน เป็นเกาลัดหวานต้ม คะจิ มีความหมายถึงชัยชนะ ส่วน คินตัน จะมีความหมายถึงทอง ซึ่งก็หมายถึงมีสมบัติมากมายนั่นเอง
โอตาฟุ คุมาเมะ
ถั่วปากอ้าต้ม มีความหมายในแง่ของโชคลาภ ถั่วปากอ้าเองก็ใช้เป็นถั่วในการบูชาอยู่แล้วด้วย
ของย่าง
บุริโนะยากิโมโน
ปลาบุริเผานั้นจะหมายถึงความสำเร็จที่จะเข้ามาในอนาคต เพราะปลาบุริ เป็นปลาที่จะเปลี่ยนชื่อไปตามขนาดของมัน ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ชูเซโนะ” หมายถึงว่าเป็นปลาที่มีการไต่ระดับขึ้นไปได้เทียบกับตำแหน่งในการทำงานนั่นเองครับ
ไทโนะยากิโมโน
ปลาไทนั้นคำว่าไท จะพ้องกับไทของ “เมเดไท” ซึ่งเป็นคำพูดในระหว่างงานมงคลเพื่อการเฉลิมฉลอง
เอบิโนะยากิโมโน
กุ้งมีความหมายถึงอายุที่ยืนยาว เพราะกุ้งนั้นลอกคราบได้ และยังหมายถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ในปีใหม่ด้วยนอกจากนี้ การที่กุ้งมีหนวดยาวก็เปรียบเสมือนคนชราที่อายุมาก มีชีวิตยืนยาวนั่นเอง
ของดอง
โคฮาคุนามาสุ
ผักดองที่ดองมาจากไชเท้าและแครอท จึงมีสีแดงและสีขาว และมีความหมายถึงความเป็นมงคล
โจโรกิ
โจโรกิ คือรากของพืชชนิดหนึ่งคล้ายต้นหญ้า มีรากเป็นปล้องๆ สีขาว เอาไปหมักดองเป็นสีแดงและดำ หมายถึงอายุยืนยาวเพราะความยาวและคงทนของรากต้นไม้ชนิดนี้
ซุบาสุ
รากบัวดองน้ำส้มสายชู รากบัวนั้นมีรูขนาดใหญ่ ให้ความหมายถึงสิ่งไม่ดีที่ไหลผ่านไปสามารถผ่านไปได้สะดวก
อาหารต้ม
คอมบุมากิ
คอมบุคือสาหร่ายซึ่งปกติจะใช้ทำน้ำซุป แต่ในที่นี่จะนำมาพันกับวัตถุดิบ ให้วัตถุดิบสอดอยู่ด้านในคล้ายๆ กับ มากิซูชิ มีความหมายถึงความร่าเริง แผ่นๆ ของสาหร่ายก็คล้ายหนังสือแสดงถึงความฉลาดรอบรู้ด้วย
อุระจิโรชิทาเกะ
นำเห็ดหอมไปใส่เนื้อหมูสับแล้วนำไปต้ม มีความหมายถึง หมวก เป็นหนึ่งในชุดซามูไร
ทะเทโทฟู
เต้าหู้ต้มที่ทำรอยขีดบนเต้าหู้สองขีด มีลักษณะเหมือน โล่ หนึ่งในชุดซามูไร
ทะทสึนะคอนเนียคุ
คอนเนียคุต้ม ที่นำมาผ่าขวางแล้วบิดเป็นเกลียว มีความหมายถึง ถุงมือหรือปลอกแขนของซามูไร
เมะดาชิคุไว
ต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาจากหัวคุไว (คล้ายๆ มัน) จะเป็นต้นอ่อนนำมาต้มสุก ให้ความหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ (การงอกขึ้นมาใหม่นั่นเอง)
ฮานะเรนคอน
รากบัวนำมาต้มแกะเป็นรูปดอกไม้ เป็นรากบัวที่มีรู จึงทำให้ไหลผ่านได้ดี จะมีความหมายถึงการทำอะไรได้อย่างราบรื่นก็ได้ครับ
ยาบะเนะเรนคอน
รากบัวทำเป็นรูปลูกธนู ที่จะมีความหมายถึงลูกธนูที่พุ่งฝ่าอากาศไปอย่างไร้อุปสรรค
ยัทสึกาชิระ
เผือกต้ม มีความหมายถึงทรัพสมบัติที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เหมือนหัวเผือกที่มีอยู่มากมายในดิน
คินกัน
ส้มคินกัน คินกันที่เป็นชื่อส้มจะพ้องเสียงคำว่า คินกัน ที่แปลว่า มงกุฎทอง ซึ่งหมายถึงการมีทรัพย์สมบัติมากมายนั่นเองครับ
Leave A Comment